เหรียญหล่อระฆังหลังฆ้อน ยุคต้น

ราคา :

120,000 บาท

รายละเอียด :

พระวัดระฆังหลังฆ้อน สร้างขึ้น 2 วาระ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี เจ้าประคุณสมเด็จฯ (เจริญ) บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่เยาว์วัย ต่อมาได้อุปสมบทเป็นพระสงฆ์ และได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นตามลำดับ จนถึงเป็นพระราชาคณะ เปรียญธรรม 7 ประโยค เชี่ยวชาญทั้งวิปัสสนาธุระ และคันถธุระ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆัง หลังจากที่ สมเด็จพระพุทธบาทปิลันทน์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) ได้เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้น แล้วย้ายไปครองวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) ประมาณ พ.ศ.2460 เจ้าประคุณสมเด็จฯ (เจริญ) นับเป็นเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ รูปที่ 3 นับจาก สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) และสมเด็จพระพุทธบาทปิลันทน์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์) ท่านได้มีส่วนช่วยสมเด็จพระพุทธบาทปิลันทน์ ในการสร้างพระเครื่อง สมเด็จปิลันทน์ ซึ่งแน่นอนว่า ท่านย่อมได้รับการถ่ายทอดพุทธาคมจากตำราดั้งเดิมของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ในการสร้างพระเครื่องด้วยการสร้างพระเครื่องของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) ย่อมแน่นอนว่า ไม่สร้างให้เหมือน หรือล้อเลียนของอาจารย์ จะเห็นได้ว่า แม้แต่สมเด็จพระพุทธบาทปิลันทน์เองก็ไม่ยอมสร้างพระเครื่องเลียนแบบของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ผู้เป็นอาจารย์ เช่นกัน พระวัดระฆังหลังค้อน ของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) นั้น ท่านได้สร้างให้แตกต่างจากของพระพุทธบาทปิลันทน์ และของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) โดยสิ้นเชิง คือ ท่านได้สร้างเป็น พระเนื้อโลหะผสม ด้วยวิธีเททองหล่อแบบโบราณ โดยมี พระอาจารย์ภา วัดระฆัง เป็นผู้ดำเนินงาน การสร้างวาระแรก เมื่อ พ.ศ.2462 เพื่อสมนาคุณแก่ผู้บริจาคทรัพย์ซ่อมแซมพระอุโบสถวัดระฆัง หลังเก่า พุทธลักษณะ เป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิ บนบัลลังก์บัว 2 ชั้น ในซุ้มปรกโพธิ์เม็ด องค์เล็กกะทัดรัด กว้างประมาณ 1.5 ซม. สูงประมาณ 2.0 ซม. เนื้อทองผสมที่ใช้ในการหล่อนั้น มีชนวนรูปหล่อพระพุทธชินราช (จำลอง) วัดเบญจมบพิตร และชนวนรูปหล่อ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง ผสมอยู่เป็นจำนวนมาก กรรมวิธีการหล่อพระ ในวาระแรก พ.ศ.2462 เป็นการหล่อแบบเป็นเส้นยาว ๆ (1 เส้นมีพระหลายองค์เป็นแนวยาว) เมื่อนำพิมพ์พระเข้าหุ่นดินแล้ววางบนรางโลหะ เสร็จแล้วทุบหุ่นดินออก และเคาะพระออกจากรางโลหะ โดยใช้สิ่ว หรือเครื่องมือมีคมตัดพระด้านบน และด้านล่าง ออกเป็นองค์ ๆ จากการเคาะพระออกจากรางโลหะ โดยใช้ค้อนนี้เอง จึงเป็นที่มาของคำว่า หลังค้อน หรืออาจเป็นเพราะว่า มีพระส่วนหนึ่งซึ่งด้านหลังองค์พระมีรอยบุบยุบลงไป เหมือนโดนค้อนทุบก็เป็นได้ และพระส่วนใหญ่ด้านหลังจะเรียบ ไม่มีอักขระเลขยันต์ใด ๆ พระวัดระฆังหลังค้อน ที่สร้างวาระแรก พ.ศ.2462 มีข้อสังเกต คือ องค์พระจะมีรอยตัดด้านบนและด้านล่าง หรือที่เซียนพระทั้งหลายเรียกกันติดปากว่า ตัดหัวตัดท้าย ด้านข้าง ขององค์พระทั้ง 2 ด้าน ส่วนใหญ่จะไม่มีร่องรอยการตกแต่งด้วยตะไบ เพราะขณะเททองหล่อพระ ขอบข้างชนกับรางโลหะ จะราบเรียบไปเอง แต่ก็มีบ้างที่มีการตกแต่งด้วยตะไบ เพื่อความเรียบร้อย หรือเพื่อให้สวยงาม ซึ่งจะมีร่องรอยเดิมให้เห็นบ้างในบางองค์ และพระส่วนใหญ่จะมีความหนามากกว่า การสร้างในวาระที่ 2 ประมาณ พ.ศ.2482-2483 เนื่องจากสภาวะการเมืองโลกในขณะนั้น ส่อเค้าว่า จะเกิดสงคราม และประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องเข้าร่วมรบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ช่วงเวลานั้น วัดต่าง ๆ ในเมืองไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณ จะสร้างพระเครื่องขึ้นเพื่อแจกจ่ายแก่ทหาร-ตำรวจ ที่จะต้องออกไปรบ และส่วนหนึ่งเพื่อแจกเป็นขวัญกำลังใจแก่ประชาชน วัดระฆังโฆสิตาราม ก็เช่นกัน ได้ดำเนินการจัดสร้าง พระวัดระฆังหลังค้อน ขึ้นอีกวาระหนึ่ง แต่กรรมวิธีการหล่อนั้น แตกต่างไปจากการสร้างวาระแรก คือ เป็นการเทหล่อโบราณแบบเข้าช่อ ตัดก้านชนวน (เหมือนกิ่งไม้) ช่อหนึ่งอาจมีพระ 15-30 องค์ พอเทเสร็จแล้วจะทุบหุ่นดินออก ตัดเอาองค์พระออกจากช่อชนวน แล้วนำพระไปตกแต่งขอบ หรือส่วนที่เป็นเนื้อเกินออกไปให้เรียบร้อย พระวัดระฆังหลังค้อน ที่สร้างในวาระที่ 2 นั้น จะมีช่อชนวน และมีร่องรอยการตกแต่งขอบรอบองค์พระทุกด้าน เพื่อความเรียบร้อย ขณะเดียวกัน ความหนาขององค์พระ ส่วนใหญ่จะหนาน้อยกว่าองค์พระที่สร้างในวาระแรก พุทธคุณ ของพระวัดระฆังหลังค้อน มีมากมาย เพราะเป็นพระที่มีอายุการสร้างมายาวนาน โดยเฉพาะพระที่สร้างในวาระแรก